Neutraceutical
Neutraceutical
2008
ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ องค์การนวัตกรรมทางการแพทย์ (Foundation for Innovation in Medicine) ได้บัญญัติศัพท์เฉพาะทางวิชาการขึ้นคำหนึ่งคือ nutraceutical เพื่อใช้เรียกสารสกัดจากอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมทั้งมีคุณสมบัติในการป้องกันรักษาโรค ที่มักผลิตขึ้นในรูปแบบคล้ายยา เช่น เป็นแคบซูล, เม็ด, สารละลาย, สารแขวนลอย, หรือเป็นผง ผลิตภัณฑ์ nutraceutical ที่กล่าวนี้ แพร่หลายสู่ท้องตลาดอย่างรวดเร็ว เพราะบริษัทผู้ผลิตมองเห็นผลประโยชน์มหาศาลรออยู่ และประชาชนทั่วโลก ก็หันมาสนใจแสวงหามาบริโภค เพราะตกอยู่ในกระแสของการรณรงค์ในเรื่อง อาหารกับสุขภาพ ตัวอย่างสารที่มีคุณสมบัติเป็น nutraceutical ได้แก่ สาร เรสเวอราทรอล (resveratrol) จาก องุ่นแดง ซึ่งมีคุณสมบัติ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant), สาร ซัลฟอราเฟน (sulforaphane) จากบรอคเคลรี่ ซึ่งมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง, หรือสารไอโซฟลาโวนอยดส์ (isoflavonoids) จากถั่วเหลือง ที่มีคุณสมบัติ ช่วยให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจแข็งแรง เหล่านี้เป็นต้น ทั้งนี้การกล่าวอ้างคุณสมบัติต่างๆ เช่นที่กล่าว จำเป็นต้องมีหลักฐานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์รองรับอย่างชัดเจนพอ
ตลอดช่วงเวลา ๒๐ กว่าปีมานี้ วงการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศไทยเรา คุ้นเคยและพูดกันถึงเรื่องราวของ nutraceutical อย่างกว้างขวาง แต่จนบัดนี้ยังหาได้มีผู้รู้ท่านใดได้คิดบัญญัติศัพท์ทางวิชาการเป็นภาษาไทยไว้เทียบกับคำว่า nutraceutical ไม่ ส่วนมากมักจะใช้ในรูปของวลีที่เป็นคำอธิบายเท่านั้น ซึ่งมักจะก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน แม้ในหมู่นักวิชาการด้วยกัน
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ใน ปริมณฑลของเทคโนโลยีชีวภาพ และเภสัชศาสตร์ จึงมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีศัพท์เฉพาะเป็นภาษาไทยสำหรับคำว่า nutraceutical เพื่อใช้ให้ตรงกัน เมื่อต้องการจะสื่อสารด้วยภาษาไทยให้แจ่มแจ้งชัดเจน โดยไม่ให้เกิดความลักลั่น รวมทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมเอกลักษณ์ (identity) และ อัจฉริยลักษณ์ทางภาษา (the genius of language) ของไทยอีกโสดหนึ่งด้วย ซึ่งพันธกิจในประการหลังนี้ มักจะถูกมองข้ามไปในหมู่นักวิทยาศาสตร์ไทย ซึ่งต่างกันกับนักวิทยาศาสตร์ตะวันตก ที่มักจะต้องคิดบัญญัติศัพท์ขึ้นใช้เป็นภาษาของตนให้เหมาะสม สอดคล้อง และทันกับความก้าวหน้าทางวิทยาการที่ค้นพบขึ้นใหม่ๆ อยู่สมอ
ผู้เขียนจึงได้ปรึกษากับท่านผู้รู้* ทางภาษาและการสื่อสาร อีกทั้งยังเป็นผู้เคยผ่านการอบรมหลักสูตรระยะยาวทางด้าน โภชนศาสตร์เชิงสังคมมาแล้วด้วย ขอให้ท่านช่วยกรุณาคิดบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยใช้เทียบกับ nutraceutical โดยได้พยายามอธิบายความหมายและประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พอให้ท่านเข้าใจความคิดรวบยอดโดยรวมเสียก่อน ท่านจึงได้คิดคำว่า “โภชนเภสัช” ขึ้น และเสนอให้นำมาพิจารณาว่าน่าจะเป็นที่น่าพอใจในหมู่นักวิชาการ และผู้สนใจ หรือไม่ ท่านได้อรรถาธิบายด้วยว่า ศัพท์ nutraceutical นั้นเป็นการผูกศัพท์ (coinage) ตามหลักการผูกศัพท์ กรีก และละติน ขึ้นใช้ โดยอาศัยศัพท์เดิมในภาษาตระกูลเดียวกันที่มีเค้าความหมายเนื่องกัน ได้แก่ nutrition กับ pharmaceutical รักษารูป nutr กับ ceutical ไว้ จึงสำเร็จเป็น nutraceutical ซึ่งเป็นที่เข้าใจชัด และเข้าใจในทันที ทั้งยังมีความสละสลวย ออกเสียงง่าย
ในภาษาไทยเรา ได้มีผู้รู้บัญญัติคำว่า nutrition ไว้นานแล้วว่า โภชนาการ และ nutrient ว่า โภชนะ ทั้งยังได้บัญญัติคำว่า pharmaceutics หรือ pharmacy ไว้นานแล้วว่า เภสัชศาสตร์ และยังมีลูกคำตามมาอีก เช่นเภสัชวิทยา เภสัชกรรม เภสัชตำรับ ฉะนั้น ถ้าบัญญัติคำว่า nutraceutical ว่า “โภชนเภสัช” จึงน่าจะเหมาะสม ทั้งในเชิงเสียง และเชิงความหมาย รวมทั้งน่าจะเป็นที่เข้าใจง่าย ศัพท์นี้คงจะ “ติด” โดยรวดเร็ว
ในตอนต่อไปของบทความนี้ ผู้เขียนจึงใคร่ขอใช้คำว่า โภชนเภสัช ให้สม่ำเสมอ และเมื่อจำเป็นต้องอ้างอิง หรือพาดพิงไปถึงศัพท์อื่น ที่น่าจะต้องมีคำศัพท์บัญญัติเป็นภาษาไทยอีก ผู้เขียนจะพยายามนำเสนอพร้อมๆ กันไป โดยใช้หลักการและวิธีการให้ได้มาซึ่งศัพท์นั้นๆ ด้วยหลักการเดียวกัน ประเด็นสำคัญที่จะได้นำเสนอต่อไปคือ
1) ขอบเขตความหมายของ โภชนเภสัช และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
2) ความจำเป็นที่จะต้องมีขั้นตอนของการควบคุม
3) ข้อแนะนำในการใช้และข้อควรระวัง
ขอบเขตความหมายของ โภชนเภสัช และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า สารสกัดที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ ที่เรียกว่า โภชนเภสัช ดังที่ได้ยกตัวอย่างไว้ข้างต้นนั้น ไม่ถือว่าเป็นยา ดังนั้นข้อบังคับในการผลิต การจำหน่าย และการติดฉลากจึงไม่เคร่งครัดเหมือนยา ส่วนใหญ่แล้วผู้บริโภคสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์โภชนเภสัชได้ตามร้านขายยาโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์และไม่จำเป็นต้องจำหน่ายโดยเภสัชกร ผลิตภัณฑ์โภชนเภสัชนี้ มีความหมายกี่ยวโยงกับ ผลิตภัณฑ์เสริมโภชนาหาร (dietary supplement) อาหารเฉพาะพันธกิจ (functional food) และคำว่า ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากธรรมชาติ (natural health product) ดังจะได้อธิบายต่อไป
ผลิตภัณฑ์เสริมโภชนาหาร (dietary supplement)
คำนี้เป็นวลีบัญญัติ ของคำว่า dietary supplement ซึ่งมักนิยมใช้กันว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ อาหารเสริม ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเป็นที่ทราบกันแล้วว่า diet ไม่ได้หมายถึง food แต่หมายถึง สมดุลของสารอาหาร ที่มีอยู่ในอาหารที่มนุษย์กินในชีวิตประจำวัน ตามที่ร่างกายมนุษย์แต่ละคนต้องการในแต่ละวัย แต่ละสภาพของร่างกาย และแต่ละลักษณะของกิจกรรมในชีวิต เพื่อให้ชีวิตเจริญเติบโต และดำรงอยู่อย่างแข็งแรง เป็นปกติสุข และเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีคุณภาพ ดังนั้น คำว่า diet ควรมีคำไทยที่เหมาะสม และถูกต้องไว้ใช้เรียกให้ตรงกัน ผู้เขียนได้ปรึกษาผู้รู้มาแล้ว เช่นกันว่าน่าจะใช้คำว่า “โภชนาหาร” โดยนำเอาคำศัพท์ ดั้งเดิมของไทยเรามาใช้เป็นศัพท์บัญญัติ ให้รับกันกับคำว่า โภชนะ (nutrient) โภชนาการ (nutrition) และคำหลังสุดที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้นคือ โภชนเภสัช (nutraceutical) ดังนั้น dietary supplement จึงแปลได้ว่า ผลิตภัณฑ์เสริมโภชนาหาร ซึ่งหมายถึงสารจากธรรมชาติ เช่น วิตามิน เกลือแร่ กรดไขมัน หรือกรดอะมิโน ที่นำมาใช้เพิ่มเติมลงในอาหารจากธรรมชาติที่มีสารอาหารไม่พอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย ผลิตภัณฑ์เสริมโภชนาหาร นี้อาจถือเป็น ยา หรือ อาหาร แล้วแต่ชนิดของผลิตภัณฑ์ และกฎหมายของแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่นสาร ฮอร์โมน ทั้งที่เป็นสาร สเตียรอยด์ (steroid) เช่น DHEA และ pregnenolone และไม่ใช่ steroid เช่น melatonin นั้น องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจัดให้เป็น อาหาร ประเภท ผลิตภัณฑ์เสริมโภชนาหาร สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป ส่วนในประเทศไทย และในสหภาพยุโรปหลายประเทศ ยังไม่อนุญาตให้จำหน่ายได้โดยเสรีเหมือนในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามในสหรัฐอเมริกานั้น ได้มีการกำหนดคุณสมบัติไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องเป็นสารในกลุ่ม วิตามิน, เกลือแร่, สมุนไพร, กรดอะมิโน, สารสกัดเข้มข้น, หรือ เมตาบอไลท์, หรือสารช่วยเพิ่มปริมาณอาหารให้ผู้บริโภคได้รับในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวัน โดยอาหารเสริมเหล่านี้จะต้องอยู่ในรูปแบบที่เป็น เม็ด, แคปซูล, ผง, หรือเป็นของเหลว และห้ามใช้บริโภคเป็นอาหารทั่วๆ ไป รวมทั้งต้องติดฉลากว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์เสริมโภชนาหาร” - “dietary supplement” ให้ชัดเจนด้วย
อาหารเฉพาะพันธกิจ (functional food)
คำนี้เป็นคำแปล หรือวลีบัญญัติของ functional food หมายถึง สิ่งที่รับประทานเข้าไปแล้ว ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงในการ ส่งเสริมสุขภาพด้านต่างๆ เพิ่มเติมจากคุณประโยชน์ทางโภชนาการทั่วๆไป โดยอาจมีคุณสมบัติช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ หรือแม้กระทั่งช่วยรักษาโรคบางชนิด คำว่า functional food นี้ได้ถูกใช้เป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น ในราวปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ซึ่งหมายรวมถึงอาหารที่ได้รับการเสริมด้วยสารเฉพาะพิเศษ เพื่อให้มีคุณสมบัติดีต่อระบบสรีระของมนุษย์ โดยต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ กระทรวงสาธารณสุขของประเทศญี่ปุ่น ได้กำหนดกฏเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียน การผลิต การติดฉลาก โดยให้เรียก อาหารเฉพาะพันธกิจว่า FOSHU ซึ่งย่อมาจาก Food for Specified Health Uses ในกลุ่มประเทศ ยุโรปและอเมริกา ไม่มีกฏเกณฑ์การขึ้นทะเบียนอาหารเฉพาะพันธกิจโดยเฉพาะ แต่จะให้ความสำคัญแก่การติดฉลากและการโฆษณาสรรพคุณมากกว่า ปัจจุบันตลาดของอาหารเฉพาะพันธกิจนั้นมีมูลค่ามหาศาล เฉพาะใน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ รวมกัน ก็มีมูลค่ารวมกันหลายแสนล้านบาท ตัวอย่างอาหารเฉพาะพันธกิจ ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันเช่น
ก) อาหารโพรไบโอติก (probiotics) ในรูปโยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยวพร้อมดื่มชนิดต่างๆ หลายร้อยชนิด โพรไบโอติก คือ จุลินทรีย์ที่มีคุณประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่ โดยชนิดที่นิยมใช้เป็นอาหารพันธกิจคือ เชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม lactic acid bacteria (LAB) และ bifidobacteria
ข) อาหาร พรีไบโอติก (prebiotics) ใช้เสริมใน เครื่องดื่ม, นมผงเด็ก, ซีเรียล, หรือ โยเกิร์ต (ซึ่งในกรณีนี้จะมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า synbiotics เพราะมีทั้ง probiotics และ prebiotics อยู่ด้วยกัน) พรีไบโอติก หมายถึงสารที่ทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของ โพรไบโอติก ตัวอย่างของ prebiotics ที่นิยมใช้ในอาหารเฉพาะพันธกิจได้แก่ inulin, FOS (fructo-oligosacchardie), GOS (galacto-oligosaccharide), XOS (xylo-oligosaccharide), SOS (soy oligosaccharide) เป็นต้น (คำว่า พรีไบโอติก และโพรไบโอติก นี้ ยังหาคำแปลที่เหมาะสมไม่ได้ จึงขอใช้ทับศัพท์ไปก่อน)
ค) เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพชนิดต่างๆ ที่มีสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่น วิตามิน เอ, ซี, อี, เครื่องดื่มที่ช่วยลดระดับ คลอเลสเตอรอล ที่มี omega-3 และ สารสกัดจากถั่วเหลือง ผสมอยู่, เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพตา ที่มี lutein, หรือเครื่องดื่มบำรุงกระดูกที่มี calcium และ inulin นอกจากนั้นแล้ว ยังมีอาหารเฉพาะพันธกิจที่เป็นที่นิยมอื่นๆ อีกเช่น ผลิตภัณฑ์ขนมอบ (bakery) ผลิตภัณฑ์ทาขนมปัง ไข่ หรือเนื้อสัตว์ที่เสริมด้วยสารที่มีคุณประโยชน์ต่างๆ เช่น omega-3 fatty acid หรือ วิตามิน อี
ความจำเป็นที่ต้องมีขั้นตอนของการควบคุม
ในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย ได้มีองค์การของรัฐทำหน้าที่ควบคุมผลิตภัณฑ์อาหาร และยา มานานแล้ว โดยทำการควบคุมตั้งแต่ เริ่มต้นกระบวนการพัฒนาขึ้นมาจนเป็นผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย การทดสอบประสิทธิภาพ และอาการแทรกซ้อน (clinical trial) การผลิต การบรรจุ การควบคุมคุณภาพ การจำหน่าย การติดฉลากแสดงส่วนประกอบ สรรพคุณและข้อบ่งใช้ รวมทั้งรายละเอียด อื่นๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และยังรวมไปถึงการติดตามผลการใช้และอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในระยะยาว และระยะสั้น ซึ่งรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนของการควบคุมนั้น จะแตกต่างกันมากระหว่าง อาหาร และยา โดยผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นยาจะมีการควบคุมอย่างเคร่งครัด และหลายขั้นตอน มากกว่าการควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นอาหาร หลายเท่า องค์การที่ทำหน้าที่ควบคุมในประเทศไทยคือ องค์การอาหารและยา ซึ่งเทียบได้กับ FDA (food and drug administration) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการควบคุมนี้ยังเป็นปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่กำลังกล่าวถึงในบทความนี้ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ และมีคุณสมบัติก้ำกึ่งกันระหว่างอาหารและยา จึงยากที่จะกำหนดได้ว่าเป็นประเภทใด โดยทั่วไปแล้วผู้ผลิตมักต้องการให้กำหนดเป็นประเภทอาหาร เพราะ มีขั้นตอนการควบคุมที่ไม่ยุ่งยาก ทำให้ลดต้นทุนการผลิต แต่สำหรับผู้บริโภคนั้น ยิ่งมีการควบคุมมากเท่าไรก็จะยิ่งเป็นผลดีกว่า แต่ก็อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเช่นกัน การจะจำแนกว่าผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ ควรจะจัดอยู่ในประเภทใดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะ สารเดียวกันอาจถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันขึ้นกับรูปแบบ ตัวอย่างเช่น จุลินทรีย์ lactobacillus ซึ่งเป็นโพรไบโอติกที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายนั้น ถ้าอยู่ในรูปผง หรือแคบซูลนั้น ควรจัดเป็น โภชนเภสัช แต่ถ้าเป็นส่วนประกอบของโยเกิร์ต ก็อาจจัดเป็นอาหาร อย่างไรก็ตามหากผู้ผลิตอ้างสรรพคุณของโยเกิร์ตจากโพรไบโอติคที่ผสมอยู่ ก็อาจต้องถูกควบคุมเป็น อาหารเฉพาะพันธกิจ อีกตัวอย่างคือชาเขียว ถ้าผลิตภัณฑ์อยู่ในลักษณะรูปแบบที่เป็นถุงชาแบบบรรจุเสร็จนั้น อาจถือเป็นโภชนเภสัช เพราะมีลักษณะเป็นหน่วยที่แน่นอน (dosage form) แต่เนื่องจากเมื่อชงเป็นชาแล้วก็ถือเป็นเครื่องดื่มทั่วไป จึงอาจถือเป็นอาหาร ทั้งนี้รวมถึงเครื่องดื่มชาเขียวต่างๆ ด้วย ดังนั้นเกณฑ์การจะตัดสินว่าผลิตภัณฑ์ใดควรจัดเป็น อาหารหรือยานั้น จึงอาจต้องดูที่วิธีการติดฉลากอธิบายสรรพคุณ ถ้าผู้เขียนอวดอ้างสรรพคุณเช่น เครื่องดื่มบำรุงชนิดต่างๆเครื่องดื่มเสริมพลัง หรือ ชะลอความแก่ แล้ว ก็ควรจัดให้เป็นประเภทอาหารเฉพาะพันธกิจ ซึ่งต้องมีการควบคุมที่เข้มข้น มากกว่าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มทั่วไป หากแต่ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีกฏเกณฑ์ใดๆ ในการจัดการกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้เลย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาจัดการควบคุม ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนนั้น แนวทางที่ ดีที่สุดคือต้องกำหนดให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มใหม่ ที่มีแนวทางการควบคุมเฉพาะ แตกต่างจากการควบคุมยา และอาหารที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแนวทางนี้ได้เริ่มนำมาใช้แล้วในประเทศ แคนาดา โดยจะทำการเริ่มต้นบังคับอย่างจริงจังในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นไป ผลิตภัณฑ์กลุ่มใหม่นี้ใช้ชื่อว่า ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากธรรมชาติ (natural health product) หมายรวมถึงสารจากธรรมชาติทั้งหลาย ทั้งจาก พืช, สัตว์, รา, สาหร่าย, และจุลชีพ ที่มีคุณสมบัติในการ บำบัด และ ป้องกัน โรค หรือเหมาะสมในการใช้รักษาสุขภาพ และยังรวมถึงสารที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์อีกด้วย ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากธรรมชาตินี้ จึงหมายรวมถึงสารจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง ได้แก่ วิตามิน, เกลือแร่, ยาแผนโบราณท้องถิ่นต่างๆ, สมุนไพร, สารที่ใช้ในการรักษาตามแนวทางแพทย์แผนทางเลือก และสาร ชีวโมเลกุล เช่น insulin, สารในใบยาสูบ, และกัญชา เป็นต้น
ข้อแนะนำในการใช้ และข้อควรระวัง
ปัจจุบัน เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า มนุษย์เริ่มให้ความสนใจในการป้องกันโรคและรักษาสุขภาพมากขึ้น นอกจากนั้นแล้วความสนใจในการใช้การแพทย์แผนทางเลือก (alternative medicine) ก็มีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นการกินอาหารเพื่อสุขภาพ และการนำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ มาใช้ในการ บำบัดรักษา และป้องกันโรค รวมทั้งการรักษาสุขภาพจึงได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน อาหารจึงเป็นมากกว่า หนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ เพราะการบริโภคอาหาร มีความสำคัญมากกว่าการเป็นแหล่งพลังงาน และช่วยเสริมแซมส่วนที่สึกหรอให้แก่ร่างกาย แต่ยังใช้ในการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพด้วย สิ่งที่น่าสนใจและ เป็นที่น่าสังเกตก็คือ การจัดประเภทผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมานี้ ว่าเป็นประเภท อาหาร หรือ ยา นั้น มีความยุ่งยากมากขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์หลายชนิดมีลักษณะที่ก้ำกึ่งกัน อาจจัดเป็นได้ทั้งยา และอาหาร การจะจัดว่าผลิตภัณฑ์ใดเป็นยา หรืออาหารนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในด้านการควบคุม เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในแต่ละประเทศมีการกำหนดใช้แตกต่างกัน ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ปัญหาที่สำคัญก็คือโดยทั่วไปแล้วผู้บริโภคมักรู้สึกว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์จากธรรมชาตินั้นปลอดภัยกว่า การกินยาเพราะเป็นสารจากธรรมชาติ หรืออาหาร แต่นั่นไม่เป็นความจริงเสมอไป เพราะผู้บริโภคไม่ได้ตระหนักว่า สารจากธรรมชาตินั้นก็มีสารที่เป็นพิษอยู่ไม่น้อย อันที่จริงแล้วความเป็นพิษของสารแต่ละอย่างนั้น ขึ้นกับปริมาณที่ได้รับด้วย สารพิษบางชนิดมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตแม้ได้รับการบริโภคในจำนวนเล็กน้อย เช่นสารจากเห็ดพิษต่างๆ แต่ก็ยังมีสารอีกมากมายที่ ถ้าได้รับในปริมาณน้อยในรูปของอาหารก็จะไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่อาจมีสรรพคุณเป็นยาได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณสูงเกินไป หรือในรูปแบบที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นในใบขี้เหล็กนั้นมีสารในกลุ่ม antraquinone ซึ่งถ้าได้รับในปริมาณที่พอเหมาะจะมีคุณสมบัติเป็นยาระบาย และมีสาร alkaloid ชื่อ barakol ซึ่งมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางช่วยให้นอนหลับได้ดี ดังนั้นผู้ที่รับประทานแกงขี้เหล็กมักจะ หลับสบาย และถ่ายคล่อง ประเด็นนี้จึงน่าสนใจว่า เราน่าจะจัดแกงขี้เหล็กให้เป็นอาหารเฉพาะพันธกิจได้หรือไม่ ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับขี้เหล็กก็คือ เนื่องจากความสามารถในการช่วยให้นอนหลับดีของใบขี้เหล็ก จึงได้มีการนำใบขี้เหล็กอัดเป็นแคปซูล หรือเตรียมในรูปแบบยาดองเหล้าออกจำหน่ายในลักษณะของผลิตภัณฑ์โภชนเภสัช โดยมีข้อบ่งใช้ในการช่วยให้นอนหลับ ซึ่งปรากฏว่า มีสรรพคุณเป็นยานอนหลับที่ดี แต่ต่อมาได้พบว่าผู้ที่บริโภคโภชนเภสัช ขี้เหล็กเป็นเวลานาน เกิดภาวะตับวาย เพราะสาร alkaloid และ glycoside หลายอย่างที่อยู่ในใบขี้เหล็กมีพิษต่อตับ จนต้องถอนผลิตภัณฑ์นี้ออกจากตลาดไป ส่วนเหตุที่เราสามารถรับประทานแกงขี้เหล็กได้โดยไม่เป็นอันตรายนั้นเป็นเพราะในขั้นตอนการทำ ต้องต้มใบขี้เหล็กเสียก่อนเป็นเวลานาน ซึ่งการต้มเช่นนี้สามารถทำลายความเป็นพิษของสารได้ จึงเห็นว่าภูมิปัญญาชาวบ้านที่สะสมมาเป็นเวลานานนั้นมีความถูกต้อง และสำคัญ รวมทั้งเน้นย้ำให้เห็นว่า การควบคุม การผลิต การทำการวิจัยเพื่อยืนยันความปลอดภัย ของผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเหล่านี้ รวมทั้งการเขียนฉลากบ่งบอกสรรพคุณนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และด้วยเหตุที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เกี่ยวกับการบริโภค โภชนเภสัช อาหารเสริม และ อาหารพันธกิจ ผู้บริโภคจึงควรระวังการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้ดีเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่แน่ใจก็ยังไม่ควรบริโภค หรือถ้าจะบริโภคก็ต้องคอยสังเกตอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นให้รอบคอบ ถ้ารู้สึกผิดปรกติแม้เพียงเล็กน้อย ควรหยุดการบริโภค และปรึกษาแพทย์ทันที
สรุป
โภชนเภสัช และอาหารเฉพาะพันธกิจ คือผลิตภัณฑ์สำหรับรับประทานเพื่อสุขภาพที่เกิดขึ้นมาใหม่ มีจุดมุ่งหมายต่างจาก การเป็นอาหาร และยาโดยทั่วไป คือมีสรรพคุณ ช่วยบำรุงสุขภาพ รวมทั้งบรรเทา หรือช่วยรักษาโรค ความแตกต่างกันของ โภชนเภสัช และอาหารเฉพาะพันธกิจ คือรูปแบบของผลิตภัณฑ์ โดยโภชนเภสัช มีรูปลักษณะคล้ายยา ส่วนอาหารพันธกิจ มีรูปแบบค่อนไปทางเป็นอาหาร ดังนั้นผลิตภัณฑ์ทั้งสองจึงไม่ควรจัดว่าเป็น อาหาร หรือ ยา แต่ควรมีการจัดประเภทใหม่ให้ชัดเจน และมีกฎเกณฑ์ควบคุมไว้อีกชุดหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่การผลิต การควบคุมคุณภาพ การติดฉลากแสดงสรรพคุณ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มี กฏเกณฑ์ หรือกลไกการควบคุมการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างรัดกุม ผู้ใช้จึงควรระมัดระวังให้มาก และอย่าหลงเชื่อคำโฆษณา และเนื่องจากในปัจจุบันกำลังมีการวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างขนานใหญ่ ทั้งในด้านรูปแบบผลิตภัณฑ์ และประสิทธิภาพในการผลิต ตลอดจนมาตรการในการส่งเสริม และควบคุม ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร พวกเรานักวิชาการในแวดวงมหาวิทยาลัย และสถาบันทางวิชาการ จึงควรเพ่งเล็งไปที่ปณิธานของเรา ในการวิจัยและการพัฒนาที่จักต้องก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม อันมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ความอยู่ดีมีสุข คุณภาพของชีวิต และการได้รับความยุติธรรมของมนุษยชาติทุกหมู่เหล่า
* ผู้รู้ที่อ้างถึงคือ รองศาสตราจารย์ ดร. สวนิต ยมาภัย
บรรณานุกรม
1. Hardy, G. (2000) Nutraceuticals and functional foods: introduction and meaning. Nutrition, 16, 688-689.
2. Siró, I., E. Kpolna, B. Kpolna & A. Lugasi (2008) Functional food. Product development, marketing and consumer acceptance--A review. Appetite, 51, 456-467.
3. Walji, R. & H. Boon (2008) Natural health product regulations: perceptions and impact. Trends in Food Science & Technology, 19, 494-497.
4. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, วงศ์สถิต ฉั่วสกุล, สมภพ ประธานธุรารักษ์, พร้อมจิต ศรลัมพ์, วิชิต เปานิล, และ นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ สมุนไพร ยาไทยที่ควรรู้ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ๑๗๖ หน้า พิมพ์ที่ บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
โภชนเภสัช และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
9/14/2556