Mycotoxins
Mycotoxins
2013
ปัจจุบันมะเร็งกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรงระดับโลก เป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตประชาชนที่อยู่ในวัยแรงงาน และผู้สูงอายุมากที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิตปีละเกือบ ๘ ล้านคน แนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิต มีเพิ่มขึ้นทุกปีในทุกประเทศ และมะเร็งยังเป็นโรคร้ายแรงที่ทำให้คนไทยตายเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันมากว่า ๑๐ ปี โดยมีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดจากมะเร็งตับ และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลต้อง สูญเสียงบประมาณหลายพันล้านบาทมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง สาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งมาจาก การปนเปื้อนของสารพิษในอาหาร ยิ่งในยุคสมัยใหม่ ที่มีการพัฒนามากขึ้นเท่าใด อันตรายจากสารปนเปื้อนใน อาหารก็มีมากขึ้นเท่านั้น หนึ่งในตัวการร้ายที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ คือ สารพิษอะฟลาทอกซิน ที่เรามักเข้าใจว่า ปนเปื้อนอยู่ในเฉพาะถั่วลิสงเพียงเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว อะฟลาทอกซิน และสารพิษจากเชื้อราอื่นๆ ยัง สามารถปนเปื้อนอยู่ในอาหารได้อีกมากมายหลายชนิด ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับความร้ายกาจของสาร อะฟลาทอกซินให้มากขึ้นกันดีกว่า
ในประเทศไทย และทุกประเทศในแถบร้อนชื้น อะฟลาทอกซิน (aflatoxin) เป็นสารพิษที่พบได้ง่าย โดยเฉพาะในอาหาร และผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่วลิสง กระเทียม พริกแห้ง กุ้งแห้ง สมุนไพร และอาหารที่ทำจากนม เป็นต้น อะฟลาทอกซินเป็นสารเคมีที่สร้างขึ้นจากเชื้อรา แอสเพอร์จิลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) และ อ. พาราซิติคัส (A. parasiticus) ซึ่งมีสีเขียวหรือสีเขียวแกมเหลือง มองเห็นได้ด้วยตา เปล่า ปัจจัยที่ทำให้เชื้อราเจริญและสร้างสารพิษได้คือ อุณหภูมิและความชื้น โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการ เจริญอยู่ในช่วง ๑๐ - ๔๐ องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ร้อยละ ๗๐ ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในช่วงสภาพ ภูมิอากาศและความชื้นของประเทศไทยในทุกภาค นอกจานั้น วิธีการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรของเรา ยังช่วยทำให้เชื้อราชนิดนี้ ที่มีอยู่ทั่วไปในดินและอากาศเจริญได้ดี สามารถสร้างสารพิษอะฟลาทอกซินได้มาก ทำให้เกิดการปนเปื้อนในผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้นไปอีก
อะฟลาทอกซินที่พบตามธรรมชาติ มีอยู่ ๔ ชนิด คือ อะฟลาทอกซินบี๑ และบี๒ ผลิตจากเชื้อ A. flavus มีโครงสร้างทางเคมีเป็นบิสฟิวราโนไอโซคูมาริน (bis-furano-isocumarin) และ อะฟลาทอกซินจี๑ และจี๒ มี โครงสร้างทางเคมีเป็นไอโซคูมาริน (isocumarin) ผลิตจากเชื้อรา A. parasiticus โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบ อะฟลาทอกซินบี๑ ปนเปื้อนในผลผลิตทางการเกษตรมากที่สุด ที่สำคัญคือ เป็น อะฟลาทอกซิน ชนิดที่มีความ เป็นพิษและเป็นสารก่อมะเร็งร้ายแรงที่สุด รองลงมาคือ จี๑ บี๒ และจี๒ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีอนุพันธ์ของ บี๑ และบี๒ คือ อะฟลาทอกซินเอ็ม๑ และ เอ็ม๒ ซึ่งพบปนเปื้อนในน้ำนม ดังแสดงในรูปด้านบน
อะฟลาทอกซินมีคุณสมบัติละลายได้ดีในตัวทำละลายอินทรีย์ เช่น คลอโรฟอร์ม เบนซิน เมทานอล เอทานอลและอะซีโตน แต่จะละลายในน้ำและแอลกอฮอล์ได้เล็กน้อย สารนี้สามารถเรืองแสงได้ภายใต้แสง อัลตราไวโอเลตที่ช่วงความยาวคลื่น ๒๕๖- ๓๖๕ นาโนเมตร โดยอะฟลาทอกซิน บี๑ และบี๒ จะเรืองแสงสี นํ้าเงิน ส่วนอะฟลาทอกซินจี๑ และจี๒ จะเรืองแสงสีเขียว ซึ่งความเข้มของแสงที่เรืองนี้เป็นสัดส่วนโดยตรง กับปริมาณความเข้มข้นของอะฟลาทอกซิน ดังนั้นจึงสามารถใช้คุณสมบัติการเรืองแสงนี้เป็นวิธีในการทดสอบ และตรวจวัดปริมาณอะฟลาทอกซินได้ คุณสมบัติทางกายภาพที่สำคัญของสารพิษอะฟลาทอกซินคือ สามารถ ทนความร้อนได้ถึงระดับอุณหภูมิ ๒๖๐ องศาเซลเซียส ดังนั้นการใช้ความร้อนในรูปของการต้ม อบ คั่ว นึ่ง โดยวิธีทั่วไป รวมทั้งวิธีพาสเจอร์ไรซ์และสเตอร์ริไรซ์ จึงไม่สามารถทำลายอะฟลาทอกซินได้ มีสารเคมีบาง ชนิดสามารถลด หรือทำลายความเป็นพิษของอะฟลาทอกซินได้บ้าง เช่น แอมโมเนีย, ด่างแก่, โซเดียมไฮโปคลอไรท์, หรือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ แต่สารเหล่านี้จะทำให้โครงสร้างของอะฟลาทอกซิน เปลี่ยนแปลงไปชั่วคราวเท่านั้น เพราะจะสามารถกลับสู่โครงสร้างเดิมที่เป็นพิษได้อีก ในสภาวะที่เหมาะสมคือเป็น กรดหรือกลาง ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้วิธีการทางเคมี ในการทำลาย อะฟลาทอกซินให้หมดไปได้ แต่ยังดีที่ แสงอัลตราไวโอเลต แสงแดด และรังสีแกมม่า นั้น สามารถทำลายอะฟลาทอกซินได้
อะฟลาทอกซินสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางตรง โดยการบริโภคผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ ปนเปื้อนสารพิษอะฟลาทอกซิน และทางอ้อมโดยการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีการปนเปื้อนสาร อะฟลาทอกซิน โดยสัตว์เหล่านั้นจะได้รับสารอะฟลาทอกซินจากอาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของผลผลิตทางการ เกษตรที่ปนเปื้อนอะฟลาทอกซิน ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว บางส่วนจะถูกขับออกในรูปเดิม บางส่วนจะถูกกระบวน การเมตาบอลิซึมของสัตว์เปลี่ยนแปลงเป็นสารเคมีหลายตัว ทั้งที่มีพิษมากขึ้นและน้อยลง โดยสารเหล่านี้ บางส่วนจะถูกสะสมในเซลล์ตับ และบางส่วนถูกขับออกทางปัสสาวะ อุจจาระและทางน้ำนม ดังนั้นหากเรา บริโภค ตับ หรือนม ของสัตว์ที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารที่ปนเปื้อน ก็จะทำให้ได้รับพิษไปด้วย
ในร่างกายคนและสัตว์ หากได้รับ อะฟลาทอกซินบี๑ เข้าไป มันจะถูกเปลี่ยนเป็นอะฟลาทอกซิคอล (aflatoxicol) ในเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะเซลล์ตับ จากนั้น จะถูกเปลี่ยนไป เป็นอะฟลาทอกซิน ๘, ๙-อีปอกไซด์ (aflatoxin 8,-9 epoxide) ในนิวเคลียส ซึ่งสารตัวนี้จะมีความไวมากในการจับกับดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ และโปรตีน ทำให้เสียสภาพไป โดยเฉพาะ เมื่ออะฟลาทอกซินรวมตัวกับดีเอ็นเอ จะทำให้การทำงาน ของดีเอ็นเอถูกเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ การสังเคราะห์โปรตีนต่างๆในเซลล์ผิดปกติ หรือหยุดชะงักลง นำไปสู่ โรคมะเร็งตับในที่สุด รวมทั้งยังอาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง โรคสมองอักเสบ เซลล์ปอดผิดปกติ และเซลล์หลอดลมผิดปกติ สำหรับอาการที่แสดงออกเมื่อสัตว์ได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย คือ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด การเจริญเติบโตลดลง ระบบสืบพันธุ์มีปัญหา ทำให้ผสมไม่ติด ทําให้ตัวอ่อนผิดปกติ ภูมิต้านทานโรคต่ำ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย มีน้ำไหลออกจากจมูก ดีซ่าน และตกเลือดตาย จากอันตราย ดังกล่าว จึงทำให้ หน่วยงานสากลด้านการศึกษาวิจัยโรคมะเร็ง (International Agency for Research on Cancer, IARC) ได้จัดอะฟลาทอกซินอยู่ในกลุ่ม ๑ ของสารก่อมะเร็ง เพราะเป็นสาเหตุร้ายแรง ในการก่อให้เกิดมะเร็งใน ตับ
ความเป็นพิษของสารอะฟลาทอกซินจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ปริมาณที่ได้รับ ความถี่ที่ได้รับ อายุ เพศ การทำงานของเอนไซม์ในตับของแต่ละบุคคล รวมถึงภาวะทางโภชนาการ เป็นต้น อันตรายจากอะฟลาทอกซินอาจแบ่งเป็นสองระดับ คือ แบบเรื้อรัง และแบบเฉียบพลัน ในแบบเรื้อรังนั้น เกิดจากการรับประทานบ่อยครั้ง ทีละไม่มาก อะฟลาทอกซินก็จะค่อยๆ ไปสะสม จนทำให้เกิดพิษเรื้อรัง คือ ไปยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนหรือสร้างโปรตีนผิดปกติ ส่งผลทำให้เกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ ส่วนกรณีแบบเฉียบพลันนั้น มักเกิดขึ้นในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ หากเด็กได้รับอะฟลาทอกซินที่ปนเปื้อนมาใน อาหารหรือน้ำนมในปริมาณสูง จะมีอาการชักและหมดสติ เนื่องจากเกิดความผิดปกติในเซลล์ตับและเซลล์สมองอย่างเฉียบพลัน น้ำตาลในเลือดลดต่ำลง สมองบวม มีการคั่งของไขมันในตับ ไต หัวใจและปอด อาการเหล่านี้หากเป็นในเด็กอาจจะเสียชีวิตได้ภายในเวลา ๒-๓ วันเท่านั้น หลังจากได้รับสารพิษ ในผู้ใหญ่หากได้รับอะฟลาทอกซินเป็นปริมาณมาก จะเกิดตับวายแบบเฉียบพลัน มีการตกเลือดภายใน เนื้อตายที่ตับ มีอาการบวมน้ำ หายใจลำบาก เข้าสู่สภาวะ หมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะเสียชีวิตในที่สุด
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าอะฟลาทอกซินเป็น สารที่มีอันตรายร้ายแรงเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างดี หลายประเทศมีการออกกฎ ข้อบังคับ เพื่อควบคุมปริมาณสารพิษจาก อะฟลาทอกซิน และเชื้อราอื่นๆ ในอาหาร อีกทั้งยังมีหน่วยงาน สากลด้านความปลอดภัยทางด้านอาหาร ได้ทำการกำหนดค่ามาตรฐานที่มีข้อตกลงร่วมกันของประเทศ สมาชิก เช่น Codex Alimentarius 2003 ซึ่งมีประเทศสมาชิก ๑๗๑ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ได้กำหนด ให้สามารถพบอะฟลาทอกซินในอาหารและผลผลิตทางการเกษตร ได้ไม่เกิน ๑๕ ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของระบบตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้า สำหรับ มาตรฐานในประเทศไทยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๙๘ พ.ศ. ๒๕๒๙ กำหนดให้มี อะฟลาทอกซินปนเปื้อนในอาหารได้ไม่เกิน ๒๐ ส่วนในพันล้านส่วนหรือ ๒๐ ไมโครกรัมต่ออาหาร ๑ กิโลกรัม เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าการกำหนดปริมาณการปนเปื้อนของอะฟลาทอกซินในผลผลิตทางการเกษตร สามารถนำมาใช้ เป็นเครื่องมือในการต่อรองทางการค้าได้เป็นอย่างดี เกษตรกรและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ทาง การเกษตรและอาหาร จึงควรใส่ใจกับเรื่องนี้ให้มาก โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การ เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC
เมื่อได้รู้ถึงพิษภัยของอะฟลาทอกซินดังกล่าวข้างต้นแล้ว จึงเห็นได้ว่าเราควรจะหาวิธีป้องกันและ ควบคุมไม่ให้สารอะฟลาทอกซินเข้าสู่ร่างกายเรา หรือเข้าไปได้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ วิธีการป้องกันและ แนวทางควบคุม คือ การป้องกันไม่ให้อะฟลาทอกซินปนเปื้อนตั้งแต่ในวัตถุดิบทางการเกษตรที่นํามาใช้ ประกอบอาหารและเลี้ยงสัตว์ โดยควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อราที่สามารถผลิตสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งทำได้โดยการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี คัดแยกเมล็ดพันธุ์พืชที่เสื่อมสภาพหรือแตกหักมีแผลเสียหายออก รวมทั้งคัดเลือกเมล็ดพันธุ์พืชที่มีความต้านทานต่อสารอะฟลาทอกซินมาปลูกตั้งแต่เริ่มต้น ควบคุมกระบวนการ เพาะปลูกให้ปลอดภัยจากศัตรูพืชที่มาทำลายเมล็ดพันธุ์พืช เพราะพืชที่อ่อนแอจะถูกปนเปื้อนด้วยเชื้อราได้ง่าย รวมทั้งต้องพยายามป้องกันไม่ให้ผลิตผลทางการเกษตรเสียหายจากการเก็บเกี่ยว การขนส่ง การบรรจุผลิตภัณฑ์ โดยต้องมีการควบคุมความชื้นให้เหมาะสม รวมไปถึงการรักษาสภาพแวดล้อมและวิธีการเก็บรักษาผลผลิตทาง การเกษตรให้ถูกต้อง อีกทั้งหน่วยงานราชการ ควรทำการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ที่ใช้ผลผลิตทางการ เกษตรเป็นวัตถุดิบสำหรับเลี้ยงสัตว์บ่อยๆ ก่อนส่งให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้มั่นใจว่ามีปริมาณ อะฟลาทอกซินไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามกฏหมายกำหนด รวมทั้งควรมีการสุ่มตรวจผลิตผลทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากผลผลิตทางการเกษตรว่ามีปริมาณอะฟลาทอกซินเกินเกณฑ์มาตรฐานตาม กฏหมายกำหนดหรือไม่อย่างสมํ่าเสมอ ก่อนถึงมือผู้บริโภค
ทั้งนี้นอกจากสารพิษอะฟลาทอกซินที่มักปนเปื้อนในผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังมีสารพิษที่เกิดจาก เชื้อราอื่นๆ ที่มักปนเปื้อนในผลผลิตทางการเกษตรด้วยอีกหลายชนิด ซึ่งมีอันตรายไม่น้อยไปกว่ากันเลย ได้แก่
1.โอคราทอกซิน (Ochratoxins) เป็นสารพิษที่ผลิตจากเชื้อรา Aspergillus ochraceus และชื้อราในกลุ่ม Penicillium ได้แก่ P. verrucosum และ P. carbonarius ซึ่งก่อปัญหาในประเทศแถบอากาศเย็น ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๙๖ Varga และคณะ พบว่าโอคราทอกซินสามารถผลิตจาก A. ochraceus A. alliaceus A. sclerotiorum A. sulphureus A. albertensis A. auricomus และ A. wentii ได้ด้วย โดยเชื้อรากลุ่ม Aspergillus เหล่านี้ จะอยู่ในแถบอากาศร้อนชื้น โอคราทอกซินเป็นสารพวก cyclic pentaketids ที่ประกอบด้วย dihydroisocoumarin เชื่อมต่อกับ β-phenylalanine มีอยู่ด้วยกัน ๓ ชนิด ได้แก่ โอคราทอกซิน เอ บี และซีดังแสดงในรูปด้านบน ซึ่งความเป็นพิษจะขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้าง โดยตัวที่สำคัญที่สุดคือ โอคราทอกซิน เอ เพราะว่าพบปนเปื้อนมากที่สุด และมีความเป็นพิษสูงที่สุด โดยมักพบปนเปื้อนในเมล็ดธัญพืช เช่น ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ เมล็ดโกโก้ ถั่วเหลือง ผลไม้จำพวกส้ม บราซิลนัท ใบยาสูบขึ้นรา ถั่วลิสง และเมล็ดกาแฟ เป็นต้น อีกทั้งยังพบในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อไก่ และเนื้อหมู และในไวน์ และ น้ำองุ่น อีกด้วย ความเป็น พิษของโอคราทอกซิน เกิดขึ้นได้ทั้งกับ ไตและตับ ของคนและสัตว์ โดยเฉพาะที่ท่อไตส่วนต้น ส่วนผลต่อตับ คือ จะทําให้เกิดไกลโคเจนสะสมในตับและกล้ามเนื้อ ไตอักเสบ ทำให้ตัวอ่อนพิการ อีกทั้งยับยั้งออกฤทธิ์ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมทั้งยังเป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะด้วย ซึ่งในปี ค.ศ. ๑๙๙๓ IARC ได้จัดให้โอคราทอกซิน เอ เป็นสารที่ก่อมะเร็งกลุ่ม 2B คือ ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งสูง
2.ซีราลีโนน (Zearalenone) (ดูโครงสร้างตามรูปด้านบน) สร้างโดยเชื้อรา Fusarium graminearum และ F. moniliforme ซึ่งมักจะพบปนเปื้อนอยู่ในข้าวโพด ข้าว สาลี ข้าวฟ่าง และอาหารสัตว์ มีลักษณะเป็นสารประกอบ ที่มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว เมื่อส่องดูภายใต้แสงอัลตราไวโอเลตที่ช่วงความยาวคลื่น ๓๖๐ นาโนเมตร ซีราลีโนน จะเรืองแสงสีเขียวอมน้ำเงิน และจะเรืองแสงสีเขียว เมื่อส่องดูภายใต้แสงอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่นสั้น คือ ๒๖๐ นาโนเมตร ซีราลีโนนมีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ทําให้เกิดอาการ hyper-estrogenism ในสัตว์เพศเมีย ทำให้อวัยวะเพศบวมแดง โดยเฉพาะในสกุรเพศเมียที่อายุน้อย อาจพบช่องคลอดและทวารหนัก ทะลัก ในสุกรที่ผสมพันธุ์แล้วอาจทำให้ผสมไม่ติด ท้องเทียม แท้งลูก หรือช่วงระยะกลับสัดนานผิดปกติ ในสุกรเพศผู้อาจพบว่า การผลิตตัวอสุจิ น้ำหนักอัณฑะและความกำหนัดลดลง IARC ได้จัดให้ซีราลีโนนอยู่ใน สารก่อมะเร็งกลุ่มที่ ๓
3.ฟูโมนิซิน (Fumonisins) เป็นสารพิษที่สร้างจากเชื้อรา F. moniliforme และ F. proliferatum แบ่งได้เป็น ๖ ชนิด คือ ฟูโมนิซิน บี๑ บี๒ บี๓ บี๔ เอ๑ และ เอ๒ ดังแสดงในรูปที่ ๕ ฟูโมนิซิน บี๑ (FB1) และ ฟูโมนิซิน บี๒ (FB2) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดและเป็นพิษมากที่สุด ส่วนมากพบในข้าวโพด ข้าวฟ่าง ลักษณะอาการต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับฟูโมนิซินเข้าไป คือ เกิดพิษต่อระบบประสาท ตับ ไต หัวใจ มีอาการ ปวดบวม สมองบวม ทำให้เซลล์ตายแบบ apoptosis รวมทั้งยังมีรายงานว่าทำให้เกิดโรค มะเร็งในหลอดอาหาร กับคนในประเทศจีนและแอฟริกาใต้ อีกด้วย ในปี ค.ศ. ๑๙๙๓ IARC ได้จัดให้ฟูโมนิซิน บี๑ และ บี๒ เป็นสาร ก่อมะเร็งในมนุษย์กลุ่ม 2B เช่นเดียวกับ โอคราทอกซิน
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นจึงเห็นได้ว่า สารพิษที่เกิดจากเชื้อราหลายชนิดที่ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ทางการ เกษตรนั้น มีอันตรายต่อทั้งคนและสัตว์เป็นอย่างมาก ดังนั้นการเฝ้าระวังไม่ให้มีสารพิษปนเปื้อนผลผลิตทาง การเกษตร และผลิตภัณฑ์อาหารเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามกฏหมายกำหนด จึงเป็นสิ่งที่คำคัญเป็นอย่างยิ่ง วิธีการตรวจหาปริมาณสารพิษมีด้วยกันหลายวิธี อาทิเช่นวิธีทางเคมี ได้แก่ วิธีโครมาโทรกราฟีแผ่นบาง (Thin Layer Chromatography, TLC) หรือ โครมาโทรกราฟีสมรรถนะสูง (High-Performance Liquid Chromatography, HPLC) และ วิธีสเปคโตรเมตรีแยกมวลสาร (Mass Spectrometry) แต่ทั้ง ๓ วิธีดังกล่าว ต้องทำในห้องปฏิบัติการชั้นสูงโดยบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญและทักษะเป็นอย่างมาก อีกทั้งการวิเคราะห์ ต้องทำสารตัวอย่างให้สะอาดบริสุทธิ์เสียก่อน ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน ทำให้เสียเวลา และค่าใช้จ่ายสูงมาก อาจทำได้เฉพาะในหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่ทำหน้าที่เฉพาะด้านนี้ เช่น กรมวิชาการเกษตร วิธีการอีกอย่างหนึ่งที่นิยมคือ ใช้วิธีการทางแอนติบอดี ด้วยเทคนิค ELISA (Enzyme-linked immunosorbent assay) ซึ่งวิธีนี้สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่ต้องมีความเชี่ยวชาญพิเศษ ก็สามารถทำการวิเคราะห์ได้ ซึ่ง คุณภาพในการวิเคราะห์ขึ้นกับแอนติบอดี ที่เตรียมได้จากสัตว์ชนิดต่างๆ หากมีแอนติบอดีที่ดี ก็จะมีความ แม่นยำในการตรวจวัดสูงมาก ข้อจำกัดก็คือ แอนติบอดียังมีราคาแพงอยู่มาก รูปแสดงตัวอย่างชุดตรวจสารอะฟลาทอกซิน แสดงด้านบน
สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ตระหนัก ถึงอันตรายร้ายแรงของสารพิษจากเชื้อรา ที่ปนเปื้อนผลผลิตทางการเกษตร จึงได้มุ่งมั่นพัฒนาชุดตรวจสอบ สารพิษชนิดต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ให้ใช้งานได้ง่าย ราคาถูก เหมาะสมสำหรับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่ห่วงใยในสุขภาพ โดยใช้หลักการตรวจสอบแบบ ELISA โดยจะพัฒนาปรับปรุงให้มีความไวต่อ สารพิษกว่าเดิม ด้วยเทคโนโลยีเฟจและวิศวกรรมแอนติบอดี โดยมีความมุ่งหวังว่า การพัฒนานี้ จะช่วยลดการ นำเข้าชุดตรวจสอบสารพิษที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรตั้งแต่ในระดับรากหญ้า จนถึงผู้ผลิต ขนาดใหญ่ สามารถเข้าถึงได้ เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน และเฝ้าระวังไม่ให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมีการ ปนเปื้อน ด้วยสารพิษจากเชื้อรา ทำให้ทั้งสัตว์ และคน ได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ไม่เกิดปัญหาในการส่งออก สินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของ คนไทย และ มนุษยชาติอย่าง ยั่งยืนต่อไป
เอกสารอ้างอิง
4.ดวงจันทร์ สุประเสริฐและวนิดา ยุรญาติ. (2545). สารอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ที่ปนเปื้อนในนมโคและ
5. นมถั่วเหลือง. วารสารสัตวแพทย์. 12, 1-7.
6.บดินทร์ บุตรอินทร์. (2555). สารพิษจากเชื้อรา: อะฟลาท็อกซิ (Mycotoxin Aflatoxin.วารสารเทคนิคการแพทย์เชียงใหม่. 45, 1-8.
7.มาลินี ลิ้มโภคา. (2527). พิษวิทยาและปัญหาที่พบในสัตว์. คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 271-279.
8.ศุภกิจ อังศุภากร. (2526). ผลของอะฟลาทอกซินต่อสุขภาพของคนและสัตว์ในประเทศไทย. สัตวแพทย์สาร. 34, 285-303.
9.เสริมพันธ์ สุนทรชาติ. (2554). รู้จักสารพิษจากเชื้อรามากกว่าอะฟลาทอกซิน. จดหมายข่าวกรมปศุสัตว์. 10, 1-3.
10.Aish, J.L., Rippon, E.H., Barlow, T., and Hattersley, S.J. (2004). Ochratoxin A. In Mycotoxins in Food, Detection and Control (N. Magan and M. Olsen, eds), pp. 307–38. Cambridge, England: Woodhead Publishing Limited.
11.Battilani, P. and Logrieco, A. (2006). Grape protection and ochratoxin-producing fungi in the grape wine chain. Inf. Fitopatol., 56, 26-9.
12.Bedard, L.L. and Thomas E. Massey, T.E. (2006). Aflatoxin B1-induced DNA damage and its repair. Cancer Lett. 241, 174-183.
13.Creppy, E.E. (1999). Human ochratoxins. J. Toxicol. Toxin Rev., 18, 277–93.
14.Frisvad, J.C. (1995). Mycotoxins and mycotoxigenic fungi in storage. In Stored Grain Ecosystems (D.S. Jaas, N.D.G. White, and W.E. Muir, eds), New York: Marcel Dekker, Inc.
15.Ghoneimy, W.A., Hassan, H.A., Soliman, S.A.A. and Gergis, S.M. (200). Study on the eff ect of afl atoxicosis on the immuneresponse of rabbit to Pasteurella multocida vaccine. Assault. Vet. Med. J., 85, 287-303.
16.Heathcote, J.G. (1984). Aflatoxin and related toxins In Mycotoxins – Production, Isolation, Separation and Purification. (V. Betina, ed.), Chap. 8, pp. 89–130. Amsterdam:Elsevier.
17.IARC (International Agency for Research on Cancer) (1993). Ochratoxin A. IARC Monographs on the Evaluation of Carcinogenic Risks to Humans: Some Naturally Occurring Substances, Food Items and Constituents, Heterocyclic Aromatic Amines and Mycotoxins. Vol. 56, pp. 26–32. Lyon, France: IARC.
18.IARC (International Agency for Research on Cancer) (2002). Monographs on the Evaluation of Carcinogenic Risks to Humans, Vol. 82. pp. 9–13. Lyon, France: IARC.
19.Kuiper, G.G., Lemmen, J.G., Carlsson, B., Corton, J.C., Safe, S.H., van der Saag, P.T., van der Burg, B. and Gustafsson, J.A. (1998). Interaction of estrogenic chemicals and phytoestrogens with estrogen receptor beta. Endrocrinology, 139, 4252-4263.
20.Li, F.Q., Yoshizawa, T., Kawamura, O., Luo, X.Y. and Li, Y.W. (2001) Aflatoxins and fumonisins in corn from the high-incidence area for human hepatocellular carcinoma in Guangxi, China. J. Agric. Food Chem., 49, 4122-4126.
21.Martins, M.L. and Martins, H.M. (2004). Aflatoxin M (1) in yoghurts in Portugal. Int. J. Food Microbiol., 91, 315-317.
22.Novoa, J.R. and Diaz, G.J. (2006). Aflatoxins and its mechanisms of toxicity in hepatic cancer. Rev.fac.med.unal., 54, 108-116.
23.Pohland, A.E., Nesheim, S. and Feiedman, L. (1992). Ochratoxin A: a review. Pure & Appl. Chern., 64(7), 1029-1046.
24.Thomson, C. and Henke, S.E. (2000). Effects of climate and type of storage container on aflatoxin production in corn and its associated risks to wildlife species. J. Wildlife Dis., 36, 172-179.
25.Varga, J., Kevei, E., Rinyu, E., et al. (1996). Ochratoxin production by Aspergillus species. Appl. Environ. Microbiol., 62, 4461–4.
26.Yoshizawa, T., Yamashita, A. and Luo, Y. (1994). Fumonisin occurrence in corn from, high- and low-risk areas for human oesophageal cancer in China. Applied Evironmental Microbiology. 60, 1626 –1629.
27.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ . (2552). เอกสารเผยแพร่โครงการ Food safety เรื่อง สารพิษจากเชื้อรา
28.(Mycotoxin). [Online]. แหล่งเข้าถึงhttp://www.dmsc.moph.go.th/webroot/BQSF/File/VARITY/ mycotoxin.htm. [30 พฤศจิกายน 2555]
29.กลุ่มตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์ สำนักตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์. สารพิษจากเชื้อรา (Mycotoxins) [Online]. แหล่งเข้าถึง : http://www.dld.go.th/qcontrol/images/stories/gfeed/knowledge-toxin.pdf [30 พฤศจิกายน 2555]
30.คณาจารย์ ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. อะฟลาทอกซิน: สารปนเปื้อนในอาหาร [Online]. แหล่งเข้าถึง : http://www.pharm.su.ac.th/cheminlife/cms/index.php/kitchen-room/37-aflatoxin.html. [30 พฤศจิกายน 2555]
31.อภิษฐา ช่างสุพรรณ. (2548). อะฟลาทอกซิน (AFLATOXIN) ในผลิตผลทางการเกษตร. [Online]. แหล่งเข้าถึง : http://www.dss.go.th/dssweb/st-articles/files/bsp_1_2548_aflatoxin.pdf. [30 พฤศจิกายน 2555]
32.Aflatoxins. [Online]. แหล่งเข้าถึง : http://www.food-info.net/uk/tox/afla.htm. [30 พฤศจิกายน 2555]
33.Fumonisin. แหล่งเข้าถึง : http://en.wikipedia.org/wiki/Fumonisin. [30 พฤศจิกายน 2555]
34.Ochratoxin. แหล่งเข้าถึง : http://en.wikipedia.org/wiki/Ochratoxin. [30 พฤศจิกายน 2555]
35.Zearalenone. แหล่งเข้าถึง : http://en.wikipedia.org/wiki/Zearalenone. [30 พฤศจิกายน 2555]
ภัยเงียบจาก อะฟลาทอกซิน และ สารพิษจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในผลผลิตทางการเกษตร
9/14/2556
ผู้เขียน
วิษณุ ศรีลา, กุณฑลี ร่างน้อย และ มณฑารพ ยมาภัย
Useful Link