Manno-Oligo Saccharide (MOS)
Manno-Oligo Saccharide (MOS)
2013
ปศุสัตว์หมายถึงสัตว์เศรษฐกิจที่มนุษย์นำมาเลี้ยงเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น เพื่อใช้งานและเป็นอาหาร สัตว์เศรษฐกิจมีทั้งสัตว์สี่เท้า เช่น โค กระบือ ม้า แพะ แกะ สุกร และ สัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ห่าน ไก่งวง เป็นต้น ในปัจจุบันอาชีพเลี้ยงสัตว์ได้รับความนิยมและมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น (สาโรช,2542) ซึ่งในการเลี้ยงสัตว์ให้ประสบความสำเร็จนั้น ล้วนต้องมีการคำนึงถึงผลกำไรที่สูงกว่าต้นทุนในการผลิต ซึ่งผลกำไรที่สูงขึ้นนั้นส่วนหนึ่งนั้นมาจากผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นด้วย และในการเพิ่มผลผลิตที่มากขึ้นนั้น มีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง คือพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของพันธุกรรมคือ การมีพันธุ์สัตว์ที่ดี ให้ผลผลิตสูง และในส่วนของสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การอยู่ในสถานที่ที่ปลอดจากโรคระบาด ทำให้สัตว์แข็งแรงและให้ผลผลิตได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งอาหารก็มีส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโตของสัตว์เป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาอาหารสัตว์ และใช้สารเสริมในอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต สารเสริมอาหารสัตว์ ที่นิยมใช้ประเภทหนึ่งคือ สารต้านจุลชีพ หรือยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ซึ่งได้มีการนำมาใช้ เป็นเวลานานพอสมควรมาแล้ว เพราะได้มีการค้นพบว่า ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อนั้น หากนำมาใช้ในระดับต่ำกว่าปริมาณที่ใช้ในการรักษาโรค จะมีฤทธิ์เป็นสารเร่งการเจริญเติบโตได้ แต่เนื่องมาจากการที่สัตว์ได้รับสารต้านจุลชีพในระดับต่ำๆ เป็นเวลานานอาจจะก่อให้เกิดการพัฒนาของเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถดื้อยาในลำไส้ได้ และยังมีสารตกค้างในผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ปัจจุบันในต่างประเทศจึงได้มีการวางมาตรการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด โดยในประเทศ ในกลุ่มประชาคมยุโรป ไม่อนุญาตให้ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารสัตว์อีกต่อไป ซึ่งในปัจจุบันการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลหลักในการกีดกันทางการค้า ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาแนวทางใหม่เพื่อผลิตสัตว์ในสภาวะที่ปลอดสารเคมี โดยการหันมาใช้สารเสริมในอาหาร(feed additive) แทน ซึ่งสารเสริมในอาหารที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะนี้ เป็นสารชีวภาพชนิดต่างๆ จากธรรมชาติหลายรูปแบบ ที่อาจนำมาใส่เสริมลงในอาหารสัตว์ ตัวอย่างเช่น สมุนไพรพื้นบ้าน จุลินทรีย์โพรไบโอติกและสารพรีไปโอติก โดยสารเสริมในอาหารจากธรรมชาติเหล่านี้ จะถูกนำมาใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ลดปริมาณเชื้อก่อโรคในลำไส้ เพิ่มภูมิต้านทานแก่สัตว์ โดยไม่ทำให้มีสารตกค้างที่ทำอันตรายต่อผู้บริโภคได้ รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิตและหลีกเลี่ยงการเกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม สารเสริมอาหารที่น่าสนใจที่จะกล่าวถึง ในที่นี้คือสารพรีไปโอติก มอซ ซึ่งเอามาจากภาษาอังกฤษ คือ MOS ซึ่งเป็นชื่อย่อของน้ำตาลโมเลกุลสั้น ประเภทหนึ่งคือ Manno Oligosaccharides ก่อนที่จะอธิบายถึงมอซ จะขอกล่าวนำถึงข้อมูลพื้นฐานเพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นดังนี้
การเสริมจุลินทรีย์โพรไบโอติก (Probiotics) ในอาหารสัตว์
มีรายการค้นคว้าวิจัยเป็นจำนวนมากที่ได้แสดงให้เห็นว่า การใช้จุลินทรีย์โพรไปโอติกเสริมลงไป ในอาหารสัตว์ จะมีส่วนช่วยทำให้จำนวนจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในทางเดินอาหารลดลง นอกจากนั้นแล้ว จุลินทรีย์โพรไบโอติกยังทำหน้าที่ผลิตสารเมทาบอไลท์ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของสัตว์อีกด้วย โพรไบโอติก ที่นิยมใช้ในการเลี้ยงสัตว์ คือแบคทีเรียในกลุ่มแลกติก (lactic acid bacteria) เช่น Streptococcus spp., Lactobacillus spp. และ Bifidobacteria เป็นต้น แต่การใช้โพรไบโอติกโดยตรงมี ข้อจำกัดเพราะอาจจะต้องเสริมในปริมาณที่มากเพื่อชดเชยกับจำนวนจุลินทรีย์ที่อาจถูกทำลายไประหว่างที่ผ่านเข้าไปเจอสภาวะที่ไม่เหมาะสมในระบบทางเดินอาหารของสัตว์ เช่น สภาวะกรดแก่ใน กระเพาะอาหาร น้ำดีในลำไส้เล็กส่วนต้น ดังนั้นจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่คงเหลือผ่านไปถึงลำไส้ใหญ่ จึงมีจำนวนน้อยกว่าเมื่อเริ่มต้นหรืออาจจะทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งการที่ต้องใส่โพรไบโอติกเข้าไปในอาหารสัตว์ในปริมาณมากนั้นก็ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรด้วย แนวทางที่น่าสนใจที่ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาจากการใช้โพรไบโอติกเป็นอาหารเสริมเพื่อเพิ่มผลผลิตของสัตว์ ก็คือการใช้สารที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์โพรไบโอติกแทน เรียกสารประเภทนี้ว่า สารพรีไบโอติก (Prebiotics)
การเสริม พรีไบโอติก (Prebiotics) ในอาหารสัตว์
พรีไบโอติก คือสารหรือองค์ประกอบที่ไม่ถูกย่อยสลายในทางเดินอาหารมีประโยชน์คือ ช่วยทำให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในระบบทางเดินอาหาร (โพรไบโอติก) สามารถเจริญเติบโตได้ดี ทำให้สัตว์ได้รับประโยชน์โดยไม่จำเป็นต้องเสริมโพรไบโอติกโดยตรงในอาหารสัตว์ ในปริมาณมากอย่างต่อเนื่องเพราะ พรีไบโอติกที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารนั้นสัตว์ไม่สามารถ ถูกย่อยด้วยเอนไซม์ในร่างกายสัตว์ แต่สามารถถูกย่อยได้โดยจุลินทรีย์โพรไบโอติกจึงช่วยเป็นแหล่งอาหาร และกระตุ้นการเจริญเติบโตให้กับแบคทีเรียที่เป็นมิตรเหล่านี้ได้ดี ทำให้ลำไส้เกิดความสมดุลย์และยังช่วยในการผลิตสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายที่เป็นกรดไขมันสายสั้น (short chain fatty acid) อีกด้วยนอกจากนั้นแล้วพรีไบโอติกบางชนิดยังมีตำแหน่งจับจำเพาะสำหรับจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค (pathogenic bacteria ) เช่น Salmonella และ E.coli ทำให้สามารถขับแบคทีเรียที่เป็นอันตรายเหล่านี้ออกจากระบบทางเดินอาหารไปกับอุจจาระได้
ประเภทของพรีไบโอติก
สารที่สามารถจัดเป็นพรีไบโอติกได้นั้น จะต้องมีลักษณะอย่างน้อย ๓ ประการ คือ ก) สารนั้นจะต้องไม่ถูกย่อยหรือดูดซับในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก ข) สารนั้นจะต้องมีความจำเพาะในการส่งเสริมเฉพาะการเจริญของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในลำไส้ เช่น Bifidobacterium เท่านั้น และ ค) สามารถถูกหมักย่อย (fermentation) ได้โดยจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารของคนและสัตว์ สามารถแบ่งย่อย ชนิดของพรีไบโอติกได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
๑. Alcohol sugar จัดเป็นคาร์โบไฮเดรทที่มีดัชนีการสังเคราะห์โพลิเมอร์ ( degree of polymerization ) หรือความยาวของหน่วยย่อยที่เป็นส่วนประกอบ เพียง ๑-๒ ตัว ตัวอย่างสารในกลุ่มนี้ เช่น maltitol, sorbitol, isomalt, และ xylitol เป็นต้น ในบางครั้งจะเรียก alcohol sugar ว่า Polyols สารประเภทนี้สามารถใช้เป็น สารให้ความหวานได้ โดยมีความหวานประมาณ ๓ ใน ๔ หรือ ครึ่งหนึ่งของน้ำตาลทั่วไป และยังดูดซับได้ช้าในลำไส้เล็กเมื่อเทียบกับน้ำตาล จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ด้วย เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
๒. Resistant starch จัดเป็นสารประเภทแป้ง polysaccharides ที่ไม่ถูกดูดซับในลำไส้เล็ก ประกอบด้วย amylase ประมาณร้อยละ ๒๐ - ๒๕
๓. Non-starch polysaccharides (NSP) เป็นสารที่ไม่ใช่แป้ง เตรียมได้จากพืชหลายชนิด เช่น pectin , cellulose, hemicellulose, guar และ xylan
๔. Inulin เป็นสาร polysaccharides ประเภท fructans เพราะประกอบด้วยน้ำตาล fructose เป็นหลัก พบเป็นส่วนของอาหารสะสมในพืชมากกว่า ๓๖,๐๐๐ ชนิด เช่น Chicory root แก่นตะวัน เห็ด หัวหอม หัวกระเทียม กล้วย เป็นต้น
๕. Oligosaccharides สำหรับพรีไบโอติก ในกลุ่มนี้จัดเป็น polysaccharide สายสั้น ประกอบด้วย น้ำตาลตั้งแต่ ๒ ถึง ๒๐ หน่วย ตัวอย่างเช่น raffinose , stachyose, Fructo Oligosaccharides (FOS), lactose , lactulose, Galacto Oligosaccharide (GOS), Manno Oligosaccharide (MOS), soybean oligosaccharide, lactosucrose, Isomalto Oligosaccharide, Gluco Oligosaccharides, Xylo Oligosaccharides และ palatinose
๖. Mucin glycoproteins เป็นสารที่ถูกสร้างโดย goblet cells ที่อยู่ในเยื่อบุผิวลำไส้และเป็นสารตั้งต้น หลักสำหรับกระบวนการหมักในลำไส้
๗. Mucopolysaccharides อื่นๆ ตัวอย่างเช่น chondroitin sulphate, heparin, และสารคัดหลั่งจากตับอ่อน และ แบคทีเรียต่างๆ สารเหล่านี้เป็นสารที่มีไว้สำหรับให้จุลินทรีย์ในลำไส้ใช้เป็นแหล่งอาหารและพลังงาน
๘. โปรตีนและเปบไทด์ สารเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของอาหาร สร้างโดยการหลั่งจากตับอ่อน หรือสร้างโดยแบคทีเรียเหมือน mucopolysaccharides แต่จะมีปริมาณน้อยกว่า
ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ การใช้มอซหรือ MOS (Manno Oligosaccharides) ในการเลี้ยงสัตว์ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ แต่ยังไม่แพร่หลายนักในประเทศไทย
แมนโนโอลิโกแซคคาไรด์ (Manno Oligosaccharide, MOS) หรือ มอซ
แมนโนโอลิโกแซคคาไรด์หรือมอซเป็นสารประกอบคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง ซึ่งมีน้ำตาลแมนโนส เป็นองค์ประกอบ มีความคงตัวสูงและไม่ถูกย่อยทำลายได้โดยกรดหรือด่าง แต่จะถูกย่อยได้โดยเอนไซม์ mannanase ที่หลั่งจากแบคทีเรียหรือเชื้อรา เพื่อนำไปใช้เป็นแหล่งคาร์บอนและฟอสเฟต ปัจจุบันได้มีทางเลือกในการผลิตเอ็นไซม์ mannanase เพื่อใช้ในการย่อยน้ำตาลแมนโนส โดยการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อช่วยในการเพิ่มผลผลิตเอ็นไซม์ดังกล่าว (Songsiriritthigul et al., 2010) สารแมนโนโอลิโกแซคคาไรด์ ที่เตรียมได้จากผนังเซลล์ยีสต์ Saccharomyces cerevisiae (Mycosob หรือ Bio-Mos) มีกลูแคน (glucan) ร้อยละ ๓๐ แมนแนน (mannan) ร้อยละ ๓๐ และไคติน (chitin) ร้อยละ ๑๒.๕ เป็นส่วนประกอบ กลูแคนเรียงตัวเป็นชั้นแรก โดยมีน้ำตาลกลูโคสจับกันด้วยพันธะ beta-1,6 และ beta-1,3 เป็นโครงสร้างหลักหรือแกนของผนังเซลล์และมีกิ่งก้านหรือแขนเป็น mannose, mannobiose, mannotriose และ monotrtrose ยึดจับกันอยู่ด้วยพันธะ alpha-1,2 และ alpha-1,3 ตัวอย่างเช่น Galactoglucomannan ดังแสดงในภาพด้านบน
การใช้แมนโนโอลิโกแซคคาร์ไรด์ (MOS) หรือมอซ เพื่อการเลี้ยงสัตว์
มีการศึกษาอย่างแพร่หลายเกี่ยวกับผลดีของมอซต่อร่างกายสัตว์ โดยพบว่ามอซมีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวสัตว์ ส่งผลให้สัตว์มีความสามารถในการต้านทานโรคเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตมากขึ้นด้วย ดังนี้
๑. ผลของมอซต่อระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์
มอซจากผนังเซลล์ของยีสต์ซึ่งมีส่วนประกอบของ mannan และ glucan สามารถมีปฏิกิริยากับกลุ่มเนื้อเยื่อเม็ดเลือดขาวในทางเดินอาหาร (gut associated lymphoid tissues) มีเม็ดเลือดขาวกลุ่ม monocytes และ macrophages อยู่สูง เซลล์ของเนื้อเยื่อในบริเวณนี้ (M cells) มี microvilli สั้น สามารถดึงมอซเข้าสู่ส่วนปลายแล้วกระตุ้นให้ B cell แบ่งตัวและพัฒนาไปเป็นเซลล์ที่ผลิตแอนติบอดีชนิด A (IgA) และชนิด IgG ได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นการทำงานของ Antigen presenting cell ส่งผลให้เกิดการหลั่ง Cytokine เพื่อกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T lymphocyte และ B lymphocyte รวมทั้ง macrophage ในสัตว์หลายชนิด (Spring and Privulesu, 1998) จากการศึกษาของ Savage et al. (1996) พบว่าการเสริมมอซในอาหารไก่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณ IgG ในพลาสมาและ IgA ในน้ำดี ส่วนการศึกษาของ Swanson et al. (2002) พบว่าเมื่อสุนัขได้รับอาหารที่มีส่วนผสมของมอซจะมีจำนวนเม็ดเลือดขาวรวม (Total lymphocyte) เพิ่มขึ้น และปริมาณ IgA ในกระแสเลือดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย จากการรายงานของ Shashidhara and Devegowda (2003) พบว่าการใช้มอซในไก่พ่อแม่พันธุ์มีผลทำให้ เพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน อีกทั้งในแม่สุกรเมื่อได้รับอาหารที่เสริมด้วยมอซ พบว่ามอซมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของ IgM ในซีรั่มและยังมีผลทำให้ปริมาณ IgG ในนมน้ำเหลืองของแม่สุกรเพิ่มสูงขึ้น (Newman and Newman 2001) และจากการเสริมมอซในลูกสุกรพบว่าส่งผลต่อการเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันในซีรั่ม และลำไส้เล็กของลูกสุกร การศึกษาของ Spring (1997) รายงานว่า การเสริมมอซในอาหารลูกสุกร ส่งผลทำให้ปริมาณ IgA และปริมาณ IgG ในซีรั่มและลำไส้เล็กเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่มีผลต่อปริมาณของ IgM ในกระแสเลือด น้ำดี และลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับการศึกษาของ Davis et al. (2004) ที่พบว่า การเสริมมอซในสูตรอาหารสำหรับลูกสุกรมีผลดีต่อการเพิ่มระดับระดับภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกัน และมีการศึกษาการใช้ มอซในอาหารไก่กระทงที่ระดับ 0.00, 0.025, 0.05 และ 0.075 เปอร์เซ็นต์ ในไก่ที่มีอายุ 3 และ 6 สัปดาห์ พบว่าไม่มีผลต่อความเข้มข้นของ IgA และ IgG ในแต่ละระดับของการใช้ แต่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของ IgM ได้ (Zou et al., 2006)
นอกจากการกระตุ้นภูมิคุ้มกันแล้ว มอซยังมีส่วนช่วยในการป้องกันร่างกายสัตว์จากเชื้อที่สามารถ ก่อโรคในระบบทางเดินอาหารได้ โดยมอซจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งการจับของจุลินทรีย์ แกรมลบที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร โดยทำให้บริเวณ mannose-specific type-1 fimbriae ของจุลินทรีย์แกรมลบ ไม่สามารถจับกับเซลล์เยื่อบุในผนังลำไส้ (epithelial cells) ได้อีกต่อไป ดังแสดงในภาพที่ ๒ จึงไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ (Ferket et al. 2002) ทั้งนี้เป็นเพราะไกลโคโปรตีนของมอซที่ได้จากผนังเซลล์ของยีสต์มีโครงสร้างคล้ายกับไกลโคโปรตีนในเยื่อบุผนังลำไส้ของสัตว์ปีกและสุกร จึงทำให้มอซสามารถไปแย่งจับกับจุลินทรีย์ที่ก่อโรคแทนที่จะเกาะกับน้ำตาลบนผนังลำไส้ นอกจากนั้นแล้วยังช่วยส่งเสริมให้เกิดกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโรคได้ เพราะจุลินทรีย์ที่ก่อโรคไม่ได้ถูกฆ่าทำลาย เพียงแต่ไม่สามารถเข้าไปยึดเกาะกับผนังลำไส้ได้ จึงไม่สามารถก่อโรคแต่ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันโดยที่สัตว์ไม่แสดงอาการของโรค (Ferket, 2004) นอกจากนั้นแล้วมอซยังสามารถแย่งจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ของเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เชื้อก่อโรคไม่สามารถจับกับเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้และถูกขับออกไป โดยมีการศึกษาในหลอดทดลอง (in vitro) แสดงผลว่ามีการเกาะติดกัน (agglutination) ระหว่างมอซกับ Escherichia coli, Salmonella typhimurium, และ S. enteritidis (Spring et al. 2000) ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ Oyofo et al. (1989) ทำการศึกษาแบบ in vitro เช่นกันแล้ว พบว่ามอซสามารถลดการจับกันระหว่างเชื้อ Salmonella typhimurium กับเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ได้ ส่งผลให้ปริมาณของ Clostridium perfringens ในมูลไก่ลดลง (Finuance et al. 1999)
๒. ผลของมอซต่อการเจริญเติบโตของสัตว์
การใช้มอซเป็นอาหารเสริมในอาหารสำหรับสัตว์ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการใช้อาหารและการให้ผลผลิต โดยมีงานวิจัยที่ศึกษาถึงผลของมอซต่อการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพการใช้อาหาร ดังเช่น Hooge (2003) ได้ทำการศึกษาในไก่ พบว่าการเสริมมอซในอาหารไก่ สามารถช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวัน (ADG, average daily gain) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เสริมมอซ อีกทั้งจากการศึกษาในสุกรกลุ่มที่ได้รับมอซผสมในอาหาร พบว่ามอซสามารถเพิ่มอัตราส่วนการเจริญเติบโตต่ออาหารที่กิน (gain-to-feed ratio) (Davis et al. 2002) ได้ อีกทั้งมอซยังช่วยส่งผลต่อน้ำหนักแรกเกิดต่อครอกและน้ำหนักหลังหย่านมของลูกสุกรเพิ่มขึ้นอีกด้วย (O’Quinn et al. 2001) นอกจากนั้นแล้วยังมีรายงานว่ามอซสามารถช่วยเพิ่มน้ำหนักให้แก่สัตว์พาณิชย์หลายประเภท ทั้ง กุ้ง lobster หมู วัวนม ไก่ไข่ และ ไก่เนื้อ อีกทั้งเมื่อ Oguz and Parlat (2004) ได้ทำการศึกษานกกระทา ที่ได้รับสารพิษ Aflatoxin แต่ได้รับการเสริมมอซในอาหารพบว่ามอซช่วยทำให้ความสามารถในการเจริญเติบโต ของนกกระทาสูงกว่านกกระทาที่ได้รับสารพิษ Aflatoxin เพียงอย่างเดียว
นอกจากประสิทธิภาพการใช้อาหารและการให้ผลผลิตแล้ว มอซยังมีผลต่อความสามารถในการย่อยของสัตว์ด้วย โดยจากการศึกษาในไก่เนื้อเชิงการค้าพบว่า ไก่ที่ได้รับมอซจะมีความสามารถในการย่อยกากใย (fibre) เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีผลต่อการย่อยไขมันและโปรตีน (Kumprecht and Zobac, 1997) อีกทั้งยังมีรายงานว่า มอซสามารถเพิ่มปริมาณโปรตีนที่ถูกดูดซึม (protein utilization) ไว้ในร่างกายสัตว์ (Samarasinghe et al., 2003) และช่วยเพิ่มการย่อยของแป้งที่บริเวณลำไส้เล็กส่วน ileum ในไก่ด้วย (Yang et al., 2008) อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรคือกลไกที่แท้จริงทำให้เกิดผลดีที่กล่าวมาข้างต้น เพราะอาจเป็นผลโดยตรงของมอซเอง หรืออาจจะเป็นผลทางอ้อมมาจากการที่มอซช่วยเสริมการทำงานของจุลินทรีย์โพรไบโอติกในระบบทางเดินอาหารก็เป็นได้
๓. ผลของมอซต่อการกระตุ้นการพัฒนาระบบทางเดินอาหาร
มีการรายงานว่ามอซสามารถส่งผลต่อการเพิ่มจำนวน goblet cell ซึ่งเป็นเซลล์สร้างเยื่อเมือก (mucins) ของผนังลำไส้เล็ก มีหน้าที่ช่วยปกป้องลำไส้จากการติดเชื้อ โดยได้มีการศึกษาพบว่า เมื่อทำการเสริมมอซในอาหารไก่ จะมีผลให้ความยาวของ villi ซึ่งเป็นส่วนที่ยื่นออกมาจากผนังด้านในของลำไส้เล็กเพิ่มมากขึ้น (Iji et al., 2001; Loddi et al., 2002; Yang et al., 2007) ทำให้ช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการดูดซึมอาหารที่ย่อยแล้วอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มการดูดซึมแร่ธาตุ สังกะสี ทองแดงและซีลีเนียมในลูกสุกรอีกด้วย (Shao et al., 2000)
จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จึงเห็นได้ว่ามอซมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก ที่มีประสิทธิภาพชนิดหนึ่ง เพราะสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์ เพิ่มจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในระบบทางเดินอาหาร และช่วยเพิ่มน้ำหนักให้แก่สัตว์พาณิชย์หลายประเภทรวมทั้งสัตว์เลี้ยงด้วย ในปัจจุบันได้มีการผลิตมอซออกจำหน่ายในท้องตลาดเพื่อการค้า ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น Agrimos, ImmunoWall, Royal Canin และ Bio-MOS โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ Bio-MOS นั้น ได้มีการยืนยันผลการวิจัยว่า สามารถช่วยเพิ่มน้ำหนักให้แก่สัตว์ และเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์มีประโยชน์ในระบบ ทางเดินอาหารซึ่งเป็นผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน เป็นจำนวนมาก รวมทั้งช่วยลดการอักเสบและติดเชื้ออีกด้วย ดังนั้นมอซจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของสารเสริมที่นำมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางปศุสัตว์ และลดปัญหา ที่เกิดขึ้นจากการใช้สารปฏิชีวนะ โดยการใช้เป็นสารเสริมเพื่อทดแทนการใช้สารปฏิชีวนะควรทำ ควบคู่กันไปกับปรับปรุงพื้นฐานการจัดการฟาร์ม รวมทั้งการป้องกันโรค การจัดระบบสุขศาสตร์สัตว์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อจะช่วยเพิ่มผลผลิตให้มากยิ่งขึ้น และลดต้นทุนลง
เอกสารอ้างอิง
1.รินทร์ลภัส กุลพัชรคณาพงษ์. 2555. การใช้สารทดแทนยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.octamemorial.com/img_varasarn/TechnicalBullentin.pdf 26 พฤศจิกายน 2555
2.สาโรช ค้าเจริญ. 2542. อาหารและการให้อาหารสัตว์ไม่เคี้ยวเอื้อง. ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
3.Davis, M.E., Maxwell, C.V., Brown, D.C., de Rodas, B.Z., Johnson, Z.B., Kegley, E.B., Hellwig, D.H. and Dvorak, R.A. (2002). Effect of dietary mannan oligosaccharides and(or) pharmacological additions of copper sulfate on growth performance and immunocompetence of weanling and growing/finishing pigs. Journal of Animal Sciences. 80: 2887-2894.
4.Davis, M.E., Maxwell C.V., Erf G.F., Brown D.C., and Wistuba T.J. (2004). Dietary supplementation with phosphorylated mannans improves growth response and modulates immune function of weanling pigs. Journal of Animal Sciences. 82: 1882-1891.
5.Ferket, P.R. (2004). Alternatives to antibiotics in poultry production: responses, practical experience and recommendations. Nutritional biotechnology in the feed and food industries: Proceedings of Alltech's 20th Annual Symposium, Kentucky, USA. 56-67.
6.Ferket, P.R., Parks, C.W., and Grimes, J.L. (2002). Benefits of Dietary Antibiotic and Mannanoligosaccharide Supplementation for Poultry. Proc Multi-State Poultry Meeting. Indianapolis, Indiana, May. 14-16.
7.Finuance, M.C., Dawson, K.A., Spring, P., and Newman, K.E. (1999). The effect of mannan oligosaccharide on the composition of the microflora in turkey poults. Poulty Science. 78(1): 77.
8.Hooge, D.M. (2003). Broiler chicken performance may improve with MOS. Feedstuffs. 75(1): 11-13.
9.Iji, P.A., Saki, A.A., and Tivey, D.R. (2001). Intestinal structure and function of broiler chickens on diets supplemented with a mannan oligosaccharide. Journal of the Science of Food and Agriculture. 81: 1186-1192.
10.Kumprecht, I. and Zobac, F. (1997). The effect of mannan-oligosaccharides in feed mixtures on the performance of broilers. Zivocisna Vyroba. 42: 117-124.
11.Loddi, M.M., Moraes, V.M.B., Nakaghi, L.S.O., Tucci, F.M., Hannas, M.I., Ariki, J., and Bruno, L.D.G. (2002). Mannanoligosaccharide and organic acids on intestinal morphology integrity of broilers evaluated by scanning electron microscopy. Proceeding 11th European Poultry Science Conference, Bremen, Germany. 121.
12.Newman, K.E., and Newman, M.C. (2001). Evaluation of Mannan Oligosaccharide on the microflora and immunoglobulin status of sows and piglet performance. Journal of Animal Sciences. 79: 189.
13.Oguz, H., and Parlat, S.S. (2004). Effects of dietary mannanoligosaccharide on performance of Japanese quail affected by aflatoxicosis. Sout. African Journal of Animal Sciences. 34(30): 144-148.
14.O'Quinn, P.R., Funderburke, D.W., and Tibbetts, G.W. (2001). Effects of dietary supplementation with mannan oligosaccharides on sow and litter performance in a commercial production system. Journal of Animal Sciences. 79: 212.
15.Oyofo, B.A., Droleskey, R.E., Norman, J.O., Mollenhauer, H.H., Ziprin, R.L., Corrier, D.E. and DeLoach, J.R. (1989). Inhibition by mannose of in vitro colonization of chicken small intestine by Salmonella typhimurium. Poultry Science. 68: 1351-1356.
16.Samarasinghe, K., Wenk, C., Silva, K.F.S.T., and Gunasekera, J.M.D.M. (2003). Turmeric (Curcuma longa) root powder and mannanoligosaccharides as alternatives to antibiotics in broiler chicken diets. Asian-Australasian Journal of Animal Sciences. 16: 1495-1500
17.Savage, T.F., Cotter, P.F., and Zakrzewska, E.I. (1996). The effect of feeding a mannanoligosaccharide on immunoglobulins, plasma IgA, and bile IgA of Wrolstad MW male turkeys. Poultry Science. 75(1): 143-145.
18.Shashidhara, R.G., and Devegowda, G. (2003). Effect of dietary mannan oligosaccharide on breeder production traits and immunity. Poultry Science. 82(8): 1319-1325.
19.Shao, L.P., Zhou, L.J., and Fei, Z.F. (2000). Effect of mannonoligosaccharide on immune function and blood antioxidant enzymes in sucking piglets. Acta. Nutr. Sinica. 22: 82-84.
20.Songsiriritthigul, C. Buranabanyat, B., Haltrich, D., and, Yamabhai, M. (2010). Efficient recombinant expression and secretion of a thermostable GH26 mannan endo-1,4-β-mannosidase from Bacillus licheniformis in Escherichia coli. Microbial Cell Factories. 20(9): 1-13.
21.Spring, P. (1997). Effect of mannanoligosaccharide on different cecal parameters and on cecal concentration of enteric pathogens in poultry. Dissertation. Federal Institute of Technology, Zurich.
22.Spring, P. and Privulescu, M. (1998). Mannanoligosaccharide: its logical role as a natural feed addi Proceedings of Alltech's 14th Annual Symposium, Kentucky,USA.
23.Spring, P., Wenk, C., Dawson, K.A., and Newman, M.E. (2000). The effect of dietary mannooligosaccharides on cecal parameters and the concentrations of enteric bacteria in cecal of Salmonella Challenged broiler chicks. Poultry Science. 79: 205-211.
24.Swanson, K.S., Grieshop, C.M., Flickinger, E.A., Bauer, L.L., Healy, H.P., Dawson, K.A., Merchen, N.R., and Fahey, G.C., Jr. (2002). Supplemental fructooligosaccharides and mannanoligosaccharides influence immune function, ileal and total tract nutrient digestibilities, microbial populations and concentrations of protein catabolites in the large bowel of dogs. J Nutr. 132: 980-989.
25.Yang, Y., Iji, P.A., and Choct, M. (2007). Effects of different dietary levels of mannanoligosaccharide on growth performance and gut development of broiler chickens. Asian-Australasian Journal of Animal Sciences. 20: 1084-1091.
26.Yang, Y., Iji, P.A., Kocher, A., Mikkelsen, L.L. and Choct, M. (2008). Effects of mannanoligosaccharides on the growth performance, nutrient digestibility and gut development of young birds given different cereal-based diets. Animal Physiology and Animal Nutrition. 92(6): 650-659.
27.Zou, X.T., Qiao, X.J., and Xu, Z.R. (2006). Effect of -Mannanase (Hemicell) on growth performance and immunity of broilers. Poultry Science. 85: 2176-2179.
การใช้ มอซ เพื่อการปศุสัตว์
9/14/2556
ผู้เขียน
กีรณา อยู่หัตถ์, สุทธิพงศ์ ศักดิ์อุบล และ มณฑารพ ยมาภัย
Useful Link