แอนติบอดี

 
 

แอนติบอดี (monoclonal antibody) เป็นสารชีวโมเลกุลที่มีคุณประโยชน์ต่อการค้นคว้าและวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพแขนงต่างๆ อย่างยิ่ง นอกจากนั้นแล้ว monoclonal antibody ยังมีประโยชน์ในการใช้เป็นสารตรวจสอบที่มีความแม่นยำสูง ทั้งนี้เพราะ monoclonal antibody สามารถจับกับเป้าหมาย หรือ แอนติเจน (antigen) ได้อย่างจำเพาะเจาะจง ซึ่งคุณสมบัตินี้เป็นผลงานของธรรมชาติที่ผ่านการวิวัฒนาการมาหลายร้อยล้านปี  หน้าที่หลักของ antibody ในสิ่งมีชีวิตคือการเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย  ซึ่งจากความเข้าใจในกลไกการทำงานของธรรมชาติในด้านนี้เอง จึงทำให้มนุษย์สามารถประยุกต์ใช้ความรู้นี้ ในการสร้างเป็นเทคโนโลยีการผลิต antibody ชนิดต่างๆ ซึ่งมีประโยชน์ทั้งในการศึกษาวิจัย และการตรวจวินิจฉัย รวมทั้งการรักษาโรค  ในชั้นต้น antibody สามารถผลิตได้จากการฉีดสาร antigen เข้าไปในสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดต่างๆ เช่น กระต่าย  ม้า  โค  แพะ  แล้วสกัด เอา antibody ซึ่งมีลักษณะเป็นโพลีโคลนอล  (polyclonal antibody) ออกมาจากซีรั่ม ต่อมาได้มีการพัฒนาวิธีการผลิต antibody อีกชนิดหนึ่งคือ monoclonal antibody วิธีการทั่วไปที่ใช้ในการผลิต monoclonal antibody นั้น ทำได้โดยการฉีดแอนติเจน (antigen) เข้าไปในหนูเพื่อให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อ antigen ชนิดนั้นๆ จากนั้นจึงใช้เทคนิคการสร้างเซลล์ผสม (hybridoma technology) เพื่อผลิตเป็น monoclonal antibody ชนิดต่างๆกัน  เซลล์ผสมที่ถูกสร้างขึ้นให้มีความสามารถในการผลิต monoclonal antibody นั้น สามารถเก็บรักษาไว้ให้เป็นแหล่งผลิต monoclonal antibody ที่มีเอกลักษณ์ในความจำเพาะเจาะจง (unique specificity) ได้ตลอดไป  การผลิต monoclonal antibody ชนิดหนึ่งๆ แต่ละครั้งนั้นต้องใช้เวลานาน ประมาณ ๔-๕ เดือนขึ้นไป และ การลงทุนสูง ทั้งยังต้องการบุคลากรที่มีความชำนาญสูง รวมทั้งยังต้องเกี่ยวข้องกับสัตว์ทดลองคือหนูอีกด้วย   นอกจากการผลิต monoclonal antibody โดยวิธีการดั้งเดิมจะมีความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายที่สูงแล้ว ยังมีข้อจำกัดที่เกิดจากเทคโนโลยีนี้หลายอย่างเช่น ข้อจำกัดเกี่ยวกับชนิดของ antigen  ที่จะใช้  เพราะต้องเป็น antigen  ที่ไม่เป็นพิษต่อหนูทดลอง  และต้องไม่เป็น antigen  ที่คล้ายกับ antigen  ของหนู เช่น antigen  ซึ่งเป็นโปรตีนที่อยู่ในขั้นต้นของลำดับการวิวัฒนาการ (conserved antigens)  หรือใช้ได้เฉพาะกับ antigen  ที่มีความสามารถในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน (immunogenecity) ได้เท่านั้น   รวมทั้งผลที่ได้จากการกระตุ้นหนูทดลองยังมีความแปรปรวนสูงขึ้นกับสุขภาพของหนูแต่ละตัว  ข้อจำกัดที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือจำนวนชนิดของ antigen  ที่จะใช้ในการสร้าง monoclonal antibody  เพราะ โดยปกติการผลิต monoclonal antibody ต่อ antigen  แต่ละชนิดมักต้องใช้หนูทดลอง ๓-๕ ตัวขึ้นไป  ในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคหลังการค้นพบลำดับ ยีโนมมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิด (post-genomic era) ความสำคัญในการศึกษาวิจัยจึงมุ่งไปสู่การศึกษาการทำงานของยีโนม หรือโปรตีน (functional genomics หรือ proteomics)  ซึ่งการวิจัยเหล่านี้จำเป็นต้องเกี่ยวกับโปรตีนจำนวนมาก  การสร้าง monoclonal antibody จำนวนมากเพื่อใช้ในการศึกษาการทำงานของโปรตีนหลายชนิดพร้อมๆกันโดยวิธีการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นไปไม่ได้ หรือต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงมาก 


การประยุกต์ใช้ monoclonal antibody อีกประการหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจอยู่มากในปัจจุบันนี้ ได้แก่การนำ monoclonal antibody ที่ผลิตได้จากหนูไปปรับปรุงให้มีคุณสมบัติเหมือนของมนุษย์ (humanization) เพื่อให้สามารถใช้ในการบำบัดโรคต่างๆ (human therapy) ปัจจุบันมี monoclonal antibody ที่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคมะเร็งหลายประเภทออกจำหน่ายแล้ว  การประยุกต์ใช้ monoclonal antibody เพื่อใช้ในการรักษาโรคนี้นับวันจะมีความสำคัญและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น  ดังนั้นจึงเป็นการดีที่จะใช้เทคโนโลยีอื่นในการผลิต monoclonal antibody ที่ไม่ยุ่งยากและรวดเร็วกว่าวิธีการ hybridoma ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ห้องปฏิบัติการ อณูเทคโนโลยีชีวภาพ ของ มทส ใช้ในการผลิต แอนติบอดี นั่นคือ เทคโนโลยีแอนติบอดีบนผิวเฟจ

 

คลิกด้านล่างเพื่อ ดู VDO เกี่ยวกับคลังแอนติบอดี

“ย่าโม ๑”

http://www.youtube.com/watch?v=0Vi0bpSRjV0

แอนติบอดีคืออะไร

คลิกด้านล่างเพื่อ ดู VDO เกี่ยวกับการผลิตแอนติบอดีจากกระต่าย

http://www.youtube.com/watch?v=6fwu7AES9z8&feature=youtu.be